SCB EIC หั่นเป้า GDP ไทยปี 67 เหลือโต 2.5% ฟื้นช้า-ลงทุนภาครัฐหด-การเมืองซ้ำเติม

18 มิถุนายน 2567
SCB EIC หั่นเป้า GDP ไทยปี 67 เหลือโต 2.5% ฟื้นช้า-ลงทุนภาครัฐหด-การเมืองซ้ำเติม

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้าจากความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ทั้งภายนอกประเทศที่ยังมีประเด็นการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนภายในประเทศจากปัจจัยการเมืองกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่ปี 68 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ

SCB EIC ระบุว่า การเมืองในประเทศ อาจกระทบต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและหันไปลงทุนกับประเทศที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางชัดเจน นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อการพิจารณางบประมาณภาครัฐปี 68 อีกด้วย ซึ่งนอกจากกรณีคดีคุณสมบัตินายกฯแล้ว ความเสี่ยงทางการเมืองของไทยอาจสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า เช่น ประเด็นนิรโทษกรรมและการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล
“เราประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 67 ครั้งที่แล้ว 3% เมื่อ 3 เดือนที่แล้วเราคิดว่าโตได้ 2.7% รอบนี้เราปรับลงเหลือ 2.5% ความกังวลของเรามีต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก”

SCB EIC มองว่าองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจาก

(1) การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัดส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้

(2) ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดเนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง และ

(3) การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล SCB EIC เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เป็นการกระตุ้นระยะสั้น สิ่งที่ตามมาคือภาระการคลังหรือหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาวได้ โดยมีมุมมองว่ารัฐบาลควรจะเยียวยาเฉพาะกลุ่มมากกว่า ขณะเดียวกัน ต้องคู่ขนานไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นให้มีการจ้างงาน

ขณะที่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้ง (1) ภาคครัวเรือน : กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ และ (2) ภาคธุรกิจ : แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง

SCB EIC มีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 67 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 68 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ช้าลงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

อ่านต่อได้ที่: infoquest


แหล่งที่มา : infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.